โภชนาการสำหรับเบาหวาน เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
เพราะอาหารที่รับประทานเข้าไปจะกำหนดระดับน้ำตาลในเลือดของคุณ โดยทั่วไปแล้ว คนเราจะต้องการพลังงานอาหารวันละ 20-45 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยจะแตกต่างกันตาม อายุ เพศ และกิจกรรมที่ทำ ผู้ป่วยเบาหวานก็ต้องการพลังงานในระดับนี้เช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่ร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานบางคนอาจนำพลังงานจากอาหารไปใช้ไม่ได้เลยเพราะขาดตัวช่วยอย่างอินซูลิน ในขณะที่บางคนก็มีตัวช่วยน้อยเกินไปจนไม่สามารถดึงพลังงานจากอาหารไปใช้ได้อย่างเต็มที่
พลังงานที่ร่างกายได้รับนั้นควรมาจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 50-60 และไขมัน ร้อยละไม่เกิน 30 ของพลังงานทั้งหมด โดยให้มีคอเลสเตอรอลไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม และมีใยอาหาร (ไฟเบอร์) วันละประมาณ 20-35 กรัม จึงถือว่าเหมาะสม ซึ่งไฟเบอร์จะเป็นตัวช่วยในการควบคุมน้ำตาลในเลือดได้อย่างดี
โปรตีน ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
โปรตีนที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือ โปรตีนที่มีไขมันน้อย เช่น ปลาทะเล ปลาทูน่ากระป๋อง เนื้อหมู ไก่ที่ไม่ติดหนัง หอยนางรม กุ้ง หอยกาบ ฯลฯ
ส่วนกลุ่มอาหารโปรตีนที่มีไขมันสูง ที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ ซี่โครงหมู ไส้กรอกหมู เบคอน หมูสามชั้น เป็นต้น
ไขมัน ต้องเลือกให้เป็น
ไขมันเป็นตัวการที่ทำให้คุณไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้ อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณไขมันสะสมในเลือดด้วย ดังนั้นไม่ควรบริโภคคอเลสเตอรอล เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน หรือ เท่ากับ ไข่แดง 1 ฟอง/วัน เท่านั้น ไขมันอิ่มตัวมักอยู่ใน เนื้อสัตว์ เนย เบคอน ครีม ครีมชีส เป็นต้น กรดไขมันแปลง ได้แก่ มาการีน อาหารแปรรูป
สามารถแบ่งอาหารได้เป็น 3 ประเภทง่ายๆ คือ
1.อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เป็นอาหารที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่
- อาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เช่น เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม ขนมหวาน และช็อกโกแลต
- เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม นมเปรี้ยว นมปรุงแต่งรส น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำเกลือแร่
- ผลไม้เชื่อม ผลไม้ตากแห้ง น้ำผึ้ง และลูกอม ถ้าต้องการบริโภคอาหารที่มีรสหวาน สามารถใช้น้ำตาลเทียมได้
2.อาหารที่รับประทานได้ แต่ควรกำหนดปริมาณ
- อาหารประเภทแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง เผือก มัน ข้าวโพด ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ วุ้นเส้น ขนมจีน และถั่วต่างๆ เป็นต้น
- อาหารประเภทโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม (เนย ชีส) เต้าหู้ และถั่วเมล็ดแห้ง ร่างกายจำเป็นต้องใช้โปรตีน ในการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
- อาหารไขมัน ได้แก่ ไขมันสัตว์ หนังสัตว์ติดมัน น้ำมันพืช เนย มาการีน (เนยเทียม) และกะทิ นอกจากจะให้พลังงานและช่วยในการดูดซึมวิตามินแล้วยังทำให้อาหารมีรสชาติมากขึ้น แต่ถ้ารับประทานมากเกินจะทำให้ไขมันในเลือดสูง นำมาซึ่งโรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือดแดงตับแข็งได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงไขมันสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และใช้น้ำมันพืช ที่มีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำทดแทน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก
- ผลไม้ นอกจากจะมีวิตามิน เกลือแร่ และกากใยอาหารสูงแล้ว ยังมีน้ำตาลด้วยจึงต้องจำกัดปริมาณที่รับประทานไม่เกิน 3 ส่วนต่อวัน และเป็นผลไม้สด ไม่เชื่อม หมัก ดอง หรือมีเครื่องจิ้ม กล้วยน้ำว้า/กล้วยไข่ 1 ลูก กล้วยหอม 1/2 ลูก ส้มเขียวหวาน 1 ลูก เงาะ/มังคุด 3 ผล ชมพู่ 2 ผล องุ่น 10 ผล มะม่วง/ฝรั่งครึ่งผล ส้มโอ 3 กลีบ มะละกอสุก 7-8 คำ แอปเปิ้ล/สาลี่ ครึ่งลูก แตงโม 10 คำ สับปะรด 10 คำ
- นมและผลิตภัณฑ์ ควรดื่มนมจืดพร่องไขมัน ที่ไม่ปรุงแต่งรสวันละ 1-2 แก้ว หรือเป็นแหล่งของโปรตีน และแคลเซียม โยเกิร์ตไม่ปรุงแต่งรสพร่องไขมัน ไม่เกิน 1 ถ้วยตวงต่อวัน
- แอลกอฮอล์ บางชนิดมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตมาก เช่น เบียร์ ไวน์ เหล้าหวาน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ในขณะท้องว่าง อาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปยับยั้งการสร้างกลูโคสจากตับ นอกจากนี้ถ้าดื่มมากเกินจะทำให้ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไขมันไตรกลีเซอไรด์
- เกลือ จะทำให้ความดันโลหิตสูง เพราะเกลือทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำไว้มากขึ้น แนะนำรับประทานไม่เกิน 2000 มิลลิกรัม/วัน (เกลือ 1 ช้อนชา, น้ำปลา 4 ช้อนชา)
- อาหารที่รับประทานได้ไม่จำกัด เป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำมีกากใยมาก ได้แก่ ผักใบเขียวทุกชนิด, เครื่องเทศต่างๆ เช่น กระเทียมพริกไทย, เครื่องปรุง เช่น มะนาว น้ำส้มสาย, เครื่องดื่มประเภท ชา กาแฟ ที่ไม่ใส่น้ำตาล น้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาล (ไม่ควรเกิน 2 แก้วต่อวัน)
References
https://www.nakornthon.com/article/detail/อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
https://www.paolohospital.com/th-th/kaset/Article/Details/เบาหวาน-กินอะไรได้บ้าง