โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจุบันไม่ได้พบแค่ในกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว แต่ยังพบในกลุ่มวัยทำงาน โดยมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
โรคชุดสุดฮิตเหล่านี้ เป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยมักละเลยในการดูแลสุขภาพ และในบางรายก็ไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคดังกล่าว การละเลยและปล่อยให้กลายเป็นโรคเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงตามมา เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด “โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง” ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่มีต้นตอมาจากกลุ่มโรคเหล่านี้
“โรคเบาหวาน” เสี่ยง! หลอดเลือดหัวใจตีบ
จากเบาหวานเป็นความดัน จากความดันเป็นโรคหัวใจ หลายคนเข้าใจว่าเบาหวานเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่จริงๆ แล้วกลับพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักเสียชีวิตเพราะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มากเป็นอันดับ 1 เลยทีเดียว! เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจะส่งผลให้หลอดเลือดแดงเกิดความผิดปกติและเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เบาหวานยังนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ อีกหลายโรค
ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคเบาหวานกันมากขึ้น และพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีอายุน้อยลง โรคเบาหวานถือว่าเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เป็นโรคที่อาจไม่แสดงอาการใดๆ ต้องทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดจึงจะทราบว่าเป็นโรคเบาหวาน โดยผลการสำรวจข้อมูลคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานมากถึง 9.5% โดย 2 ใน 3 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน ส่วนที่เหลือ 1 ใน 3 นั้นไม่ได้รับการตรวจและรักษาอย่างถูกวิธี
เกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวานมีหลายวิธี เช่น การวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งค่าปกติของระดับน้ำตาลควรน้อยกว่า 100 มก./ดล. หากมากกว่า 126 มก./ดล. ถือว่าเป็นเบาหวาน อย่างไรก็ตาม หากระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 100-125 มก./ดล. ถือว่ามีความเสี่ยง หรือเรียกว่าเป็นภาวะ “เบาหวานแฝง” เท่านั้น
“ไขมันในเลือดสูง” เสี่ยง! กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
เพราะระดับไขมันในเลือดมีความสำคัญต่อการเกิดหลอดเลือดแข็ง ตีบ และอุดตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน สมองขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ โดยระดับคอเลสเตอรอลปกติที่ยอมรับได้ คือ ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนไตรกลีเซอไรด์ ควรน้อยกว่า 150 มก./ดล. รวมถึงไขมันชนิดดี (HDL) ควรมีค่ามากกว่า 60 มก./ดล. และไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ควรมีค่าน้อยกว่า 130 มก./ดล.
“ความดันโลหิตสูง” หัวใจทำงานหนัก
เมื่อไหร่ที่ระดับความดันโลหิตสูงจะส่งผลให้หัวใจต้องบีบตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัว หากปล่อยไว้เป็นเวลานานแล้วไม่รักษา อาจทำให้ผนังหัวใจจะยืดออกและเสียหน้าที่ ทำให้เกิดเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา หลอดเลือดหัวใจหนาตัวและแข็งตัวขึ้น เป็นหัวใจโต มีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ซึ่งสาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา กว่า 90% เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ความดันในหลอดเลือดแดงสูงขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานหนักและหนาตัวขึ้น เลือดดีจากปอดและหัวใจห้องบนซ้ายไม่สามารถไหลลงหัวใจห้องล่างซ้ายได้ ส่งผลทำให้หัวใจโตและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด
ความน่ากลัวของโรคความดันโลหิตสูง คือ ผู้ป่วยมากกว่า 90-95 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจนของโรคได้ พบเพียงปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้น การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน อาหารที่รับประทานเป็นประจำ หรือแม้แต่พันธุกรรม นอกจากนี้ ยังมักไม่แสดงอาการ แต่เบื้องหลังนั้นได้สร้างความเสียหายต่อหลอดเลือดและหัวใจอย่างมาก ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่นๆ ที่อาจตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ทั้งนี้ ค่าความดันโลหิตของคนปกตินั้นอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ค่าความดันโลหิตที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง คือ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
References
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/เบาหวาน-ความดัน-ค่าน้ำตาล
https://www.sikarin.com/health/
https://www.paolohospital.com/th-th/CENTER/Article/Details/