โรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน

เบาหวาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ อาการแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลัน ได้แก่ ภาวะโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูง และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่วนภาวะแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง เช่น ภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต ระบบประสาท ปัญหาที่เท้าจากเบาหวาน รวมทั้งโรคที่มักพบร่วมกับเบาหวาน เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
ภาวะแทรกซ้อนหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน คุณอาจเสี่ยงโรคร้ายแรงเหล่านี้ได้!!

โรคหัวใจและหลอดเลือด : หัวใจล้มเหลว
เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจะทำให้หลอดเลือดเสื่อมลง มีไขมันสะสมที่ผนังหลอดเลือด หลอดเลือดยืดหยุ่นได้น้อยลง อีกทั้งยังเสี่ยงเกิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน จึงเพิ่มความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) : อัมพฤกษ์,อัมพาต
โรคเบาหวานเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากหลอดเลือดที่สมองได้รับผลกระทบจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน จึงทำให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดดังที่อธิบายด้านบน จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด “โรคหลอดเลือดสมองตีบ” ซึ่งทำให้เกิดอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต เนื่องจากสมองขาดเลือดและออกซิเจนไปเลื้ยง

โรคเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน (Diabetic Neuropathy) : ชาปลายมือ-เท้า, เป็นแผลหายยาก
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงยังส่งผลให้เส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทเสียหาย โดยมักเกิดกับเส้นประสาทส่วนปลายก่อน เช่น เส้นประสาทที่บริเวณปลายเท้าหรือขา ทำให้รู้สึกชา หรือบางรายมีอาการปวด แสบร้อน และมักเริ่มจากส่วนปลายนิ้วเท้าไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ หากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้ ความเสียหายของเส้นประสาทยังอาจส่งผลต่อเส้นประสาทของระบบอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ระบบบย่อยอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ทั้งยังอาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้อีกด้วย

ภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง
เบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดีอาจทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมหรือไตวายเรื้อรัง หรือที่เรียกว่า ”เบาหวานลงไต” เนื่องจากที่ไตจะมีกลุ่มของขดหลอดเลือดขนาดเล็กที่ทำหน้าที่ในการกรองของเสียจากกระแสเลือดทิ้งทางปัสสาวะ แต่หากปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้กลุ่มของหลอดเลือดฝอยดังกล่าวเสียหาย ประสิทธิภาพการกรองของเสียจากไตจึงลดลงเรื่อยๆ และนำไปสู่ภาวะไตวาย
เรื้อรัง ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการฟอกไตในที่สุด

ความเสียหายต่อจอประสาทตา
โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดีอาจทำให้เกิดภาวะ ”เบาหวานขึ้นตา” ซึ่งเกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมานานหลายปี ทำให้หลอดเลือดในจอประสาทตาซึ่งทำหน้าที่รับแสงเสื่อมลง การมองเห็นและการรับภาพจึงผิดปกติไป เช่น มองเห็นภาพไม่คมชัด มองเห็นภาพเป็นคลื่น เห็นจุดสีเข้ม มองเห็นสีเปลี่ยนไป นอกจากนี้ หากไม่ควบคุมเบาหวานให้เหมาะสม ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดต้อกระจก ต้อหิน และอาจทำให้ตาบอดได้ด้วย

References

https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/treatment-of-stroke
https://www.bangpakok3.com/care_blog/view/267
https://www.sikarin.com/health/รู้หรือไม่เป็นเบาหวาน/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *