ทำความรู้จักกับแผลเบาหวาน
แผลเบาหวานเป็นบาดแผลเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีผนังของหลอดเลือดแดงแข็งตัวและหนาขึ้น ส่งผลให้เส้นเลือดตีบและแข็งเกิดการอุดตันในที่สุด ทำให้แผลหายยากเพราะไม่มีเลือดไปเลี้ยง นอกจากนี้ระบบประสาทรับความรู้สึกจะเสื่อม รับความรู้สึกได้น้อยลงหรือไม่ได้เลยทำให้เท้าชา ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสความร้อนหรือเย็นหรือแม้กระทั่งเล็บขบ จึงทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย การเกิดแผลที่เท้าและลุกลามจนกระทั่งถูกตัดขาเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและรุนแรงในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจและสังคม
แผลเบาหวานมักเกิดที่เท้า
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมแผลเบาหวานส่วนใหญ่จึงเกิดที่เท้า เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีเส้นเลือดตีบและอาการเสื่อมของระบบประสาทรับความรู้สึกส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการชา เมื่อเป็นแผลที่เท้าในช่วงแรกมักไม่รู้สึก แต่จะรู้สึกเมื่อแผลรุนแรง ทำให้รักษายาก หายช้า และอาจร้ายแรงถึงขั้นตัดเท้า
กลุ่มเสี่ยงแผลเบาหวาน
กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดแผลเบาหวาน คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นแผลเบาหวานเรื้อรังมานาน ยิ่งเป็นเบาหวานนานหลายปียิ่งเสี่ยงจะเกิดบาดแผล
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “แผลเบาหวาน”
- ภาวะปลายประสาทเสื่อม เพราะน้ำตาลในเลือดมีผลทำให้ระบบประสาทผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะเส้นประสาทเสื่อม ผู้ป่วยจึงมักมีอาการชาหรือไร้ความรู้สึกบริเวณเท้า เมื่อเกิดบาดแผลบริเวณเท้า ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัวและปล่อยให้เกิดบาดแผลลุกลาม
- ความผิดปกติของหลอดเลือด การเกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็งจนเกิดอุดตัน ทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดไปเลี้ยง รวมไปถึงการเกิดบาดแผลเรื้อรัง เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงได้เพียงพอ การสมานแผลจึงเป็นไปได้ยาก และมักพบมากที่บริเวณปลายนิ้วเท้าหรือส้นเท้า
- ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ บาดแผลของผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดการติดเชื้อร่วมด้วย โดยเฉพาะบริเวณเท้าที่สัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย ซึ่งมีผลกระทบมาจากการสมานแผลช้าเพราะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง ทำให้แผลเกิดอักเสบลุกลาม และอาจร้ายแรงถึงขั้นต้องตัดขา หรืออวัยวะส่วนนั้นๆ ที่เกิดแผลได้
แผลเบาหวาน แบ่งได้ 3 ประเภท
- แผลเส้นประสาทเสื่อม
- แผลขาดเลือด
- แผลติดเชื้อ
โดยแผลขาดเลือดนั้นหายยากและอันตรายที่สุด!! ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดแดงในส่วนต่างๆ ของขาอุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่พอ มักเกิดบริเวณนิ้วเท้าและลุกลามสูงขึ้นมาเรื่อยๆ โดยแผลจะแห้ง ก้นแผลซีด ยิ่งหากมีการติดเชื้อในแผลขาดเลือด อาจถึงกับต้องตัดขา
อันตรายของแผลเบาหวาน
- เรื้อรังรักษายาก เพราะแผลเบาหวานเรื้อรังถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีแผลจะหายยาก
- หายช้า เนื่องจากแผลเบาหวานเกิดจากหลอดเลือดแดงตีบ ทำให้เลือดนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงส่วยปลายของร่างกายได้น้อย
- ปลายประสาทเสื่อม เกิดจากอาการชา ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้ว่าเกิดแผล ทำให้แผลลุกลามมากได้
- เท้าผิดรูป ร่วมกับผิวแห้งหนาผิดปกติ เกิดหนังหนาๆ เป็นก้อนนูนออกมากดเนื้อเยื่อข้างใต้ เรียกว่า Callus หากเท้าผิดรูปบิดเบี้ยว เกิดแรงกดเฉพาะที่จะทำให้เนื้อเยื่อตายรักษายาก
- ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม เนื่องจากเส้นประสาทไม่ดี มีผลต่อต่อมไขมันและต่อมเหงื่อ ทำให้การผลิตและหลั่งไขมันลดลง ส่งผลให้ผิวแห้ง แตก เกิดแผลได้ง่าย
- เสี่ยงสูญเสียนิ้ว และ เท้า โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรังและติดเชื้อรุนแรงมากกว่าคนปกติ เพราะระดับน้ำตาลสูง เส้นเลือดแดงตีบ เลือดไม่ไปเลี้ยง กลไกการต่อสู้กับเชื้อโรคบกพร่อง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อีกทั้งมีโอกาสเกิดเนื้อตายจากเส้นเลือดแดงส่วยปลายตีบนำไปสู่การสูญเสียนิ้วหรือขาได้
ดังนั้นการดูแลแผลเบาหวานที่เท้าให้มีประสิทธิภาพจึงต้องให้การดูแลครอบคลุมตามสาเหตุของการเกิดแผล การประเมินผล การควบคุมการติดเชื้อ การลดแรงกดที่แผล การเพิ่มการไหลเวียนเลือด การส่งเสริมการหายของแผลและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
References
https://piyavate.com/ทำความรู้จักแผลเบาหวาน/
https://www.bangkokhospital.com/content/diabetes-mellitus
https://www.paolohospital.com/th-th/center/Article/Details/-แผลเบาหวาน-เรื่องสำคัญ-ที่ผู้ป่วยต้องใส่ใจ