เบาหวานในหญิงขณะตั้งครรภ์ (GDM :Gestational diabetes mellitus, GDM) มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในช่วง 24-48 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เกิดจากมีภาวะดื้ออินซูลินมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจัยอาจมาจากรก หรืออื่นๆ และตับอ่อนของมารดาไม่สามารถผลิตอินซูลินให้เพียงพอกับความต้องการได้ คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นมาตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ หรือเพิ่งมาเป็นระหว่างตั้งครรภ์ก็ได้ สำหรับมารดาที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์และไม่สามารถคุมน้ำตาลได้นั้น จะมีผลให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวมาก หรือภาวะทารกตัวโต (Macrosomia) ทำให้มารดาคลอดแบบปกติยาก หรืออาจเกิดความเสี่ยงในการคลอด อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะหายไปหลังจากคลอดบุตร แต่มารดาจะมีความเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และทารกที่เกิดมาจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน และพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เช่นกัน
อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักไม่ก่อให้เกิดอาการ หรือไม่มีอาการแสดงที่เห็นได้ชัดเจน คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีอาการกระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะบ่อยขึ้น
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
คำตอบก็คือ มีหลายปัจจัยที่สามารถส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ขึ้นได้ ทั้งปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ บางคนอาจจะมีคนในครอบครัวเป็นเบาหวานมาก่อน ปัจจัยด้านอายุ สตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ด้วยระบบของร่างกายที่เปลี่ยนไป ปัจจัยด้านประวัติการคลอดบุตร
ผู้ที่มีความเสี่ยงอาจเคยมีประวัติคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 4 กิโลกรัมขึ้นไป เคยคลอดบุตรที่มีความพิการแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเคยมีประวัติทารกเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ รวมทั้งปัจจัยในเรื่องความอ้วน การมีความดันโลหิตสูง ก็เป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
ผลกระทบของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน ?
อันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
• คุณแม่ที่ระดับน้ำตาลสูง จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ มีโอกาสให้ทารกที่คลอดออกมาพิการ หรือเสียชีวิตในแรกคลอด (ระยะปริกำเนิด) ได้
• เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ 15-20%
• การเกิดภาวะเสื่อมของระบบหลอดเลือด ตา ไต และปลายประสาท
• มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
• มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด เช่น การคลอดยาก การตกเลือดหลังคลอด เพิ่มขึ้น
• มีโอกาสเป็นเบาหวานซ้ำ ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ถึง 35-50%
• มีโอกาสเป็นเบาหวานชนิด 2 ถึง 40-60% เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี
อันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์
• ระดับน้ำตาลที่สูงจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกจะมีร่างกายใหญ่กว่าปกติ (Macrosonia) เป็นอุปสรรคต่อการคลอดจนอาจได้รับอันตรายขณะคลอด โอกาสที่จะแท้งบุตรอาจสูงขึ้น
• มีโอกาสที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์ได้ หลังคลอดระบบการหายใจของทารกอาจมีปัญหาไม่สามารถหายใจได้เองเมื่อแรกคลอด
• ระยะหลังคลอด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ตัวเหลือง ระดับเกลือแร่ในร่างกายอาจผิดปกติได้
References:
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/เบาหวานขณะตั้งครรภ์
https://dmthai.org/new/images/knowledge/knowledge_2561/9301.jpg
https://www.gedgoodlife.com/health/13653-gestational-diabetes/